CSR คืออะไร
CSR เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษว่า Corporate
Social Responsibility (CSR) หรือ บรรษัทบริบาล หมายถึง
การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร
ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในองค์กรและในระดับใกล้และไกล
ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร
ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
หากพิจารณาแยกเป็นรายคำศัพท์ คำว่า Corporate
มุ่งหมายถึงกิจการที่ดำเนินไปเพื่อแสวงหาผลกำไร
(หมายรวมถึงองค์กรประเภทอื่นได้ด้วย) ส่วนคำว่า Social ในที่นี้
มุ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันหรือมีวิถีร่วมกันทั้งโดยธรรมชาติหรือโดยเจตนา
รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบประกอบ และคำว่า Responsibility
มุ่งหมายถึงการยอมรับทั้งผลที่ไม่ดีและผลที่ดีในกิจการที่ได้ทำลงไปหรือที่อยู่ในความดูแลของกิจการนั้นๆ
ตลอดจนการรับภาระหรือเป็นธุระดำเนินการป้องกันและปรับปรุงแก้ไขผลที่ไม่ดี
รวมถึงการสร้างสรรค์และบำรุงรักษาผลที่ดีซึ่งส่งกระทบไปยังผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ
ลำดับชั้นของผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับซีเอสอาร์
คำว่า กิจกรรม (activities) ในความหมายข้างต้น
หมายรวมถึง การคิด การพูด และการกระทำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผน การตัดสินใจ
การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการ และการดำเนินงานขององค์กร
สังคมในความหมายของความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
จะพิจารณาตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน
และผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ สังคมใกล้
และสังคมไกล
สังคมใกล้ คือ
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับองค์กรโดยตรง ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า
ครอบครัวของพนักงาน ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
สังคมไกล คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอ้อม
ได้แก่ คู่แข่งขันทางธุรกิจ ประชาชนทั่วไป ระบบนิเวศโดยรวม เป็นต้น
ในระดับของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน
ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้น
การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
การให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน
หรือที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกิจการ
การไม่นำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารหรือกรรมการซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม
เป็นต้น
ในระดับของผู้บริหารหรือกรรมการบริษัท
ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่
การส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
มีระบบการบริหารจัดการและการกำหนดค่าตอบแทนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลรายงานทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง
ครบถ้วน ทันเวลา รวมถึงการอุทิศเวลาและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น
ในระดับของพนักงาน ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
ได้แก่ การจ่ายค่าจ้างและผลตอบแทนที่เป็นธรรมและตรงต่อเวลา
การจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
การพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น
ในระดับของลูกค้าและผู้บริโภค ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
ได้แก่ ความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค การให้บริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา
การให้ข้อมูลขององค์กรและตัวผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอและอย่างถูกต้องเที่ยงตรง
การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค การยุติข้อโต้แย้งและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค
เป็นต้น
ในระดับของคู่ค้า
ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่
การยึดถือข้อปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม การดำเนินงานในทางต่อต้านการทุจริต
รวมทั้งการกรรโชก และการรับหรือให้สินบนในทุกรูปแบบ
การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ของคู่ค้า
การไม่เอารัดเอาเปรียบต่อคู่ค้า
การส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินความรับผิดชอบด้านสังคมร่วมกับองค์กร เป็นต้น
ในระดับของชุมชนและสภาพแวดล้อม
ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่
การสงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ การส่งเสริมแรงงานท้องถิ่นให้มีโอกาสในตำแหน่งงานต่างๆ
ในองค์กร
การสนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่
และการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เป็นต้น
ในระดับของประชาสังคม
ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่
การสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มหรือเครือข่ายอื่นๆ ในการพัฒนาสังคม
การตรวจตราดูแลมิให้กิจการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน
การรับฟังข้อมูลหรือทำประชาพิจารณ์ต่อการดำเนินกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
และการทำหน้าที่ในการเสียภาษีอากรให้รัฐอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น
ในระดับของคู่แข่งขันทางธุรกิจ
ตัวอย่างความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้แก่ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม
การดูแลกิจการมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้วยวิธีการทุ่มตลาด
การกลั่นแกล้งหรือใช้อิทธิพลในการกีดกันเพื่อมิให้เกิดการแข่งขัน เป็นต้น
หลักแนวคิดของ CSR
1.
การกำกับดูเเลกิจการที่ดี
2.
การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม
3.
การเคารพสิทธิและการปฎิบัติต่อเเรงงานอย่างเป็นธรรม
4.
ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
5.
การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม
6.
การดูเเลรักษาสิ่งเเวดล้อม
7.
การเผยเเพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม
8.
การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งเเวดล้อม
ที่มา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น